บทความ

บทความ เมาแล้วขับเสียค่าปรับเท่าไหร่ตามกฎหมายจราจรใหม่ 2566

Cropped close up of a man drinking beer at the home

เมาแล้วขับเสียค่าปรับเท่าไหร่ตามกฎหมายจราจรใหม่ 2566

ข้อหา “เมาแล้วขับ” มีโทษอย่างไรบ้าง

หากถูกเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่ควรเกิน 50 มิลลิกรัม ในขณะขับรถ จะต้องรับโทษหนัก-เบาแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่การเสียค่าปรับ การถูกจำคุก การถูกพักใช้ใบขับขี่ และการถูกเพิกถอนใบขับขี่

• กรณีกระทำผิด “เมาแล้วขับ” ครั้งแรก จะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 - 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

• กรณีกระทำผิดซ้ำในข้อหา “เมาแล้วขับ” ภายในระยะเวลา 2 ปี จะเพิ่มอัตราโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับตั้งแต่ 50,000 - 100,000 บาท โดยศาลจะลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ถูกพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่ ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565

ข้อหา “เมาแล้วขับ” จนเกิดอุบัติเหตุ มีโทษหนักยิ่งกว่า

• กรณีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 - 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 - 100,000 บาท และถูกพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่

• กรณีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 - 120,000 บาท และให้ศาลพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบขับขี่

• กรณีเมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะถูกระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 - 200,000 บาท และถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับรถทันที

เมาแล้วขับ ต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเท่าไหร่

จากเดิมที่กำหนดให้ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หากเกินจะถือว่าเป็นการเมาแล้วขับ แต่กฎกระทรวงฉบับที่ 21 พ.ศ. 2550 ได้เพิ่มเงื่อนไขล่าสุดบังคับใช้กับผู้ขับขี่ 4 ประเภท หากพบว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่า 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถือว่าเมาแล้วขับ ดังนี้

• ผู้ขับขี่ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

• ผู้ขับขี่ที่ถือใบขับขี่ชั่วคราว (แบบ 2 ปี)

• ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ใช้แทนกันไม่ได้

• ผู้ขับขี่ที่อยู่ระหว่างการพักใช้ หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่

ผู้ขับขี่ “เมาแล้วขับ” ประกันภัยไม่จ่าย

การคุ้มครองประกันภัยกรณีเมาแล้วขับแล้วประสบอุบัติเหตุ มีเงื่อนไขแตกต่างกันไปทั้งประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และภาคสมัครใจ
สำหรับประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. จะคุ้มครองผู้เอาประกันและคู่กรณีโดยไม่พิสูจน์ความถูกหรือผิด โดยจะคุ้มครองเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ไม่รวมถึงค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวรถและทรัพย์สินแต่อย่างใด
ส่วนประกันภัยภาคสมัครใจ หากพบว่าผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ บริษัทประกันภัยจะคุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีเท่านั้น โดยไม่คุ้มครองฝั่งผู้ที่เมาแล้วขับแต่อย่างใด แม้ว่าจะเป็นประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ก็ตาม หากแม้ว่ามีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเกิดขึ้น บริษัทประกันอาจเรียกเงินที่จ่ายคืนกลับมาได้
ทั้งนี้ การขับขี่พาหนะในขณะมึนเมาสุราเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่อาจสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้ร่วมทางได้ อีกทั้งผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กำหนดยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยภาคสมัครใจที่ตกลงทำไว้กับบริษัทประกัน แม้ว่าจะเป็นประกันชั้น 1 ก็ตาม ดังนั้นหากรู้ว่าตนเองมีอาการมึนเมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่พาหนะโดยเด็ดขาด

ที่มา : www.thairath.co.th